http://wireless-kea.blogspot.com

.
Powered By Blogger
CONTENT.com -->
Free Blog Content

แผนที่ จังหวัดสตูล

แผนที่ จังหวัดสตูล

คลังบทความของบล็อก

วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2551

ประวัติและอาณาเขต

สตูล
สตูลเป็นจังหวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ ของประเทศไทยมีประชากร เป็นชาวไทยมุสลิม ถึงร้อยละ 80 เป็นจังหวัดที่ติดชาย ฝั่งทะเลด้านตะวันตก (ชายฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย) สตูลอยู่ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถยนต์ประมาณ 973 กิโลเมตร มีพื้นที่ 2,478 ตร.กม. มีชายฝั่งทะเลยาว 80 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นเนินสูงมีที่ราบป่าเขาห้วยลำธาร ในเขตภาคตะวันออกของจังหวัด ตอนกลางใกล้ชายทะเลเป็นที่ราบ มีภูเขาและที่ราบลุ่ม ส่วนชายฝั่งทะเลเป็นที่ ราบและป่าชายเลนน้ำท่วมถึง มีป่าโกงกางและไม้แสมมาก


นอกจากนี้ในเขตจังหวัดสตูลยังมีหมู่เกาะต่างๆ ในทะเลอันดามันอีกกว่าร้อยเกาะ เช่น หมู่เกาะตงหมู่เกาะตะรุเตา เกาะเภตรา เกาะสาหร่าย ฯลฯ
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดตรังและสงขลาทิศใต้ ติดกับรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย และจังหวัดสงขลาทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดสงขลา และรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตก ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
การปกครอง
จังหวัดสตูลแบ่งการปกครองออกเป็น 6 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอควนโดน อำเภอท่าแพ อำเภอควนกาหลง อำเภอละงู และอำเภอทุ่งหว้า

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา



เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงาม ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันบริเวณช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล อุทยานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองสตูล ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กม. และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบาราประมาณ 22 กม. แนวเขตด้านใต้ของอุทยานฯ ติดกับเส้นเขตแดนใน ทะเล ระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย
ประกอบไปด้วย หมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวนถึง 51 เกาะ มีเนื้อที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตรกม. แบ่งเป็นพื้นที่ทางทะเล 1,260 ตรกม. พื้นที่เกาะ 230 ตรกม. จัดแบ่งออกเป็น หมู่เกาะใหญ่ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะ ตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี เกาะสำคัญขนาดใหญ่มี 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะดง เกาะหลีเป๊ะ เกาะเหล็ก เกาะกลาง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ เกาะตะรุเตา ได้รับการประกาศ เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 อัตราค่าธรรมเนียมในการเข้าชมอุทยานฯ ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท ชาวต่างประเทศ 50 บาท เด็ก 25 บาท

นับเป็นเกาะใหญ่ที่สุด คำว่า "ตะรุเตา" นี้ เพี้ยนมาจาก คำว่า "ตะโละเตรา" ในภาษามลายูแปลว่า มีอ่าวมาก เช่น อ่าวตะโละดาบ อ่าวตะโละอุดัง อ่าวหินงาม ฯลฯ ชื่อเหล่านี้มักจะตั้งตามสภาพที่พบเห็นเป็นส่วนใหญ่ เช่น อ่าวหินงาม มีชายหินที่มีความสวยงามตลอดแนว อ่าวตะโละอุดังมีกุ้งทะเลมาก เป็นต้น บริเวณเกาะตะรุเตามีสถานที่น่าสนใจดังนี้

พุทธศักราช 2479 มีการประกาศพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นโจรผู้ร้าย กรมราชทัณฑ์จึงหาสถานที่ที่มีภูมิประเทศเหมาะสม ซึ่งในที่สุดได้เลือกเกาะตะรุเตาและจัดตั้งขึ้นเป็นทัณฑสถาน โดยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2480 กลุ่มบุกเบิกของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้การนำของขุนพิธานทัณฑทัย ได้ขึ้นสำรวจเกาะตะรุเตาบริเวณอ่าวตะโละอุดังและอ่าวตะโละวาว เพื่อจัดทำเป็น “ทัณฑสถาน” โดยฟันฝ่าอุปสรรคทางธรรมชาตินานัปการเป็นเวลา 11 เดือน งานบุกเบิกจึงสิ้นสุดลง หลังจากเดือนมิถุนายน 2481 เกาะตะรุเตาก็เป็นทัณฑสถานและเป็นนิคมฝึกอาชีพของนักโทษเด็ดขาด และนักโทษผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะนี้ เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 หน้า 566 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 ปลายปี พ.ศ.2482 รัฐบาลได้ส่งนักโทษการเมืองจากคดี กบฏบวรเดช (พ.ศ.2476) และกบฏนายสิบ (พ.ศ.2478) จำนวน 70 นาย มายังเกาะตะรุเตาซึ่งถูกกักบริเวณไว้ที่อ่าวตะโละอุดัง


ถ้ำ

ถ้ำที่น่าสนใจมีอยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำดงอยู่ที่อ่าวฤาษี ถ้ำจระเข้ซึ่งเป็นถ้ำที่มีชื่อเสียงมาก ต้องนั่งเรือไปตามลำคลองมะละกาที่อ่าวพันเต ทางอุทยานฯ จัดเรือไว้บริการพาชมถ้ำต่างๆ

จุดชมวิว

ด้านหลังที่ทำการอุทยานแห่งชาติ มีทางเดินป่าขึ้นหน้าผาโต๊ะบูที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 370 เมตร เพื่อชมทิวทัศน์ของเกาะบริเวณชายหาดและท้องทะเลอ่าวพันเตมะละกา ใช้เวลาเดินทางขึ้นหน้าผาประมาณ 20 นาที จุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างจากที่ทำการไปตามทางลูกรังเลียบชายฝั่งประมาณ 1.5 กม. จุดชมวิวจุดนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างอ่าวพันเตมะละกากับอ่าวจาก มีหน้าผายื่นออกไปในทะเล หินบริเวณนี้เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ อย่างสวยงาม

สถานที่ทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการราชทัณฑ์บนเกาะตะรุเตา

มี 3 แห่ง คือ บริเวณเรือนจำอ่าวตะโละอุดัง ซึ่งเป็นอ่าวใต้สุดของเกาะตะรุเตา และที่เรือนจำอ่าวตะโละวาว ซึ่งเป็นค่ายกักกันนักโทษการเมืองและนักโทษสามัญ ตั้งอยู่ทางทิศใต้และทางฝั่งตะวันออกของเกาะ นอกจากนี้ยังมีทางรถยนต์ประวัติศาสตร์ ขนาด 6 เมตร ที่นักโทษถางไว้เพื่อเชื่อมต่อระหว่างอ่าวตะโละวาวและอ่าวตะโละอุดัง ระยะทางประมาณ 12 กม.

บ่ออนุบาลเต่าทะเล

เป็นบ่อที่เพาะเลี้ยงลูกเต่าทะเลที่เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บรวบรวมมาจากชายหาดของเกาะต่างๆ เต่าที่พบในบริเวณอุทยานมี 3 ชนิดคือ เต่าตะนุ เต่ากระ และเต่าหญ้าตาแดง

สถานที่ดำน้ำดูปะการัง

สถานที่ดำน้ำในบริเวณเกาะตะรุเตามีหลายแห่ง เช่นที่บริเวณผาปาปิญอง (อุทยานแห่งชาติตั้งชื่อให้ตามชื่อภาพยนตร์เรื่องปาปิญอง ที่มาใช้สถานที่บริเวณนี้ถ่ายทำ) เป็นแหล่งดำน้ำระดับ 15 ฟุต นอกจากนี้ก็มีที่อ่าวสนและเกาะตะเกียง เกาะตะรุเตายังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีก เช่น "ศูนย์นิทรรศการ" ซึ่งจัดแสดงรายละเอียดของสิ่งต่างๆ เช่น ซากสัตว์โบราณที่กลายเป็นหิน มีอายุอยู่ในสมัย 400-500 ล้านปีมาแล้ว รวมทั้งปะการังและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ

หาดทราย

เกาะตะรุเตามีชายหาดที่สวยงาม เล่นน้ำได้หลายหาด เช่น หาดทราย อ่าวพันเตมะละกา หน้าที่ทำการอุทยานฯ หาดทรายอ่าวเมาะและหาดทรายอ่าวสน ที่เป็นบริเวณให้นักท่องเที่ยวไปตั้งเต็นท์พักแรม และดำน้ำดูปะการังได้

น้ำตก

น้ำตกที่ค้นพบแล้วมีอยู่หลายแห่ง เช่น น้ำตกที่เกิดจากลำคลองลูลู มี 2 แห่ง น้ำตกที่เกิดจากคลองตะโละโป๊ะ มี 1 แห่ง ทั้ง 3 แห่งนี้อยู่ในบริเวณอ่าวสน นอกจากนี้ก็มีน้ำตกธารนักโทษที่อ่าวตะโละวาว

คลองมะละกา


อยู่ที่อ่าวพันเตมะละกา เป็นคลองที่มีขนาดใหญ่และมีความยาวมากที่สุด สามารถแล่นเรือเข้าไป เที่ยวชมได้เป็นระยะทางหลายกิโลเมตร สภาพสองข้างทางเป็นป่าโกงกางสลับกับโขดหินผา น้ำในลำคลองเป็นน้ำกร่อย ในอดีตคลองมะละกาได้ชื่อว่ามีจระเข้ที่ดุร้ายอาศัยอยู่ชุกชุมมาก สิ่งที่น่าสนใจบริเวณคลองมะละกา นอกจากสภาพภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว บริเวณต้นน้ำมีถ้ำน้ำดั้นถึง 3 แห่ง เป็นถ้ำที่มีน้ำไหลลอดออกมาจากภายในถ้ำลงสู่ลำคลอง ถ้ำที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ ถ้ำจระเข้ ซึ่งเป็นถ้ำที่ลึกลับวิจิตรสวยงามของหินงอกหินย้อยรูปร่างแปลกตา อันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทางอุทยานฯ ได้ทำทางเดินภายในถ้ำและยังมีผู้นำทางทำให้เกิดความสะดวกสบาย
การเดินทางสามารถเดินทางไปโดยติดต่อเรือหางยาวบริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯ หรือนั่งเรือไปตามลำคลองมะละกาที่อ่าวพันเต ซึ่งทางอุทยานฯ ได้จัดเรือไว้บริการพาชมถ้ำต่างๆ

เกาะสิเป๊ะหรือเกาะหลีเป๊ะ

เกาะนี้อยู่ทางตอนใต้ของเกาะอาดัง มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครอบครัว ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในเดือน 6 และเดือน 12 ขึ้น 13-15 ค่ำ ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านที่มีเชื้อสายชาวเลจะมารวมกันที่เกาะหลีเป๊ะเพื่อจะจัดงานรื่นเริงร่วมกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือ ด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการประกอบอาชีพประมงจุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ธรรมชาติของป่าปะการังรอบเกาะ เวิ้งอ่าวสวยงาม หาดทรายขาวละเอียด และอ่าวที่สวยงามคือ อ่าวพัทยา บนเกาะมีที่พักคอยบริการนักท่องเที่ยวทั้งบริเวณหน้าเกาะและด้านหลังเกาะ อัตราค่าที่พักประมาณ 200-300 บาท